North African Campaigns (1942-1943)

การรบในแอฟริกาตอนเหนือ (๒๔๘๕-๒๔๘๖)

​​​     การรบในแอฟริกาตอนเหนือ เป็นการรบครั้งสำคัญในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ซึ่งนำไปสู่การยกพลขึ้นบกของฝ่ายพันธมิตรในซิซิลี (Sicily) และอิตาลีตอนใต้ เพื่อพิชิตอิตาลีในที่สุดเกิดขึ้นเมื่อกองกำลังผสมของฝ่ายพันธมิตรอันประกอบด้วยอังกฤษและสหรัฐอเมริกายกพลขึ้นบกที่ชายฝั่งประเทศโมร็อกโก (Morocco) และแอลจีเรีย (Algeria) เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๒ เป็นการเปิดฉากการรบระหว่างฝ่ายพันธมิตรกับฝ่ายอักษะ (Axis Powers) ซึ่งขยายขอบเขตไปตลอดดินแดนทางตอนเหนือของแอฟริกา การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือดและสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรในเดือน พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๓
     ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อฝรั่งเศสตกอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมนีในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ฝรั่งเศสต้องจัดตั้งรัฐบาลวิชี (Vichy) ขึ้นเพื่อให้ความร่วมมือกับเยอรมนี ขณะที่ประชาชนจำนวนมากยังไม่ยอมแพ้และได้จัดตั้งขบวนการต่อต้านใต้ดินเรียกว่า ขบวนการฝรั่งเศสเสรี (Free French Movement)* ขึ้นและมีอีกจำนวนหนึ่งภายใต้การนำของจอมพล ชาร์ล อองเดร โชแซฟ มารี เดอ โกล (Charles Andre Joseph Marie de Gaulle)* ได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นในประเทศอังกฤษ ทั้ง ๒ กลุ่มร่วมมือกันต่อสู้กับกลุ่มประเทศอักษะในนามของประชาชนชาวฝรั่งเศส ในช่วง เวลาดังกล่าวอาณานิคมโพ้นทะเลของฝรั่งเศสถูกปล่อยให้เผชิญชะตากรรมของสงครามเพียงลำพัง โดยเฉพาะอาณานิคมในแอฟริกาเหนือซึ่งอยู่ใกล้เมืองแม่มากที่สุดเกิดสุญญากาศแห่งอำนาจที่ทั้งรัฐบาลวิชีและรัฐบาลพลัดถิ่นนั้นไม่อาจเข้าไปปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยให้ได้ ในกลุ่มประเทศพันธมิตรที่เหลืออยู่ รัสเซียเองก็ต้องทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดเพื่อป้องกันตนเองจาก การรุกรานแบบสายฟ้าแลบของกองทัพนาซีเยอรมันจึงมีอังกฤษเพียงประเทศเดียวที่ยังพอมีกองกำลังในอียิปต์ดูแลและปกป้องผลประโยชน์ของอังกฤษในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและแอฟริกาตอนเหนือ
     หลังจากประสบชัยชนะอย่างงดงามในหลายพื้นที่ของยุโรป ฝ่ายอักษะประกอบด้วยเยอรมนีและอิตาลีจึงวางแผนจะตักตวงผลประโยชน์จากความอ่อนแอของอังกฤษและฝรั่งเศสในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและแอฟริกาตอนเหนือ ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๑ รัฐบาลเยอรมันได้ส่งกองกำลังติดอาวุธขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพภายใต้การนำของจอมพล แอร์วิน รอมเมิล (Erwin Rommel)* เข้าไปประจำการในตริโปลี (Tripoli) โดยให้ปฏิบัติการใกล้ชิดกับกองกำลังของอิตาลี กองกำลังของเยอรมันดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่าเป็น "กองทัพน้อยแห่งแอฟริกา" (Afrika Korps - African Corps) ตลอด ค.ศ. ๑๙๔๑ กองทัพนี้ประสบชัยชนะในการสู้รบกับอังกฤษในแอฟริกาตอนเหนือหลายครั้งหลายคราจอมพล รอมเมิลในฐานะผู้นำกองทัพได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่ามีความเป็นนักรบอาชีพที่ปราดเปรื่องท้าทาย และมีความสามารถสูงจนได้รับขนานนามว่า "จิ้งจอกทะเลทราย" (Desert Fox)
     ความปราชัยของอังกฤษในแอฟริกาตอนเหนือทำให้ฝ่ายเสนาธิการต้องปรับแผนการรบครั้งใหญ่ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๒ รัฐบาลอังกฤษโดยคำแนะนำของฝ่ายเสนาธิการได้ส่งพลโท เบอร์นาร์ด ลอว์ มอนต์กอเมอรี (Bernard Law Montgomery)* ไปเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพที่ ๘ ของอังกฤษประจำการอยู่ในแอฟริกาตอนเหนือ เพื่อพิชิตรอมเมิลและกองทัพฝ่ายอักษะ กองทัพนี้นอกจากจะประกอบไปด้วยทหารอังกฤษแล้วยังมีทหารจากประเทศในเครือจักรภพคือออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ร่วมด้วย นอกจากนี้ การวางแผนการรบครั้งใหม่นี้ยังคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากประเทศพันธมิตรให้ได้มากที่สุด โดยอังกฤษจะต้องดำเนินการทุกวิถีทางที่จะดึงเอาฝรั่งเศสในฐานะประเทศเจ้าของอาณานิคมหลายแห่งในแอฟริกาเข้าร่วมในการรบด้วย และหากเป็นไปได้จะต้องเป็นฝรั่งเศสภายใต้การนำของจอมพล เดอ โกล สำหรับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นพันธมิตรใหม่เข้าร่วมสงครามด้วยในช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๔๑ อังกฤษก็ติดตามเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดถึงความจริงใจและความเต็มใจที่ จะเข้าร่วมปฏิบัติการในพื้นที่ห่างไกลจากสหรัฐอเมริกา เช่น ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและแอฟริกาตอนเหนืออย่างไรก็ดี ในช่วงต้น ค.ศ. ๑๙๔๒ สหรัฐอเมริกายังคงยุ่งอยู่กับการรบ ๒ ด้านทั้งแนวรบในภาคพื้นแปซิฟิกและแนวรบในภาคพื้นแอตแลนติก ที่ทำร่วมกับอังกฤษอย่างหนักหน่วงคือแนวรบด้านแอตแลนติก เพื่อปกป้องแนวชายฝั่งมหาสมุทรจากนิวฟันด์แลนด์ (New Foundland) ของแคนาดา จนถึงคีย์เวสต์ (Key West) รัฐฟลอริดา (Florida) ของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการสู้รบกับเรืออู (Uboat) ของเยอรมันในน่านน้ำมหาสมุทรแอตแลนติกด้วย
     ในช่วงกลาง ค.ศ. ๑๙๔๒ สถานการณ์เริ่มพลิกผันเข้าข้างฝ่ายพันธมิตร เมื่อปรากฏว่าฝ่ายพันธมิตรอยู่ในฐานะได้เปรียบและการสู้รบเชิงรุกประสบผลสำเร็จมากขึ้น ทำให้การสูญเสียลดลง ฝ่ายพันธมิตรเกิดกำลังใจเป็นครั้งแรก อังกฤษจึงสามารถเรียกร้องความสนใจจากสหรัฐอเมริกาให้หันมาเห็นความสำคัญของแนวรบด้านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและแอฟริกาตอนเหนือ แต่ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๒ กองทัพเยอรมันประสบชัยชนะในรัสเซียตอนใต้และพร้อมจะรุกคืบลงมาสู่เขตเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกและตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันรัฐบาลเยอรมันได้สั่งเพิ่มกำลังรบ เช่น รถถังเครื่องบิน และอาวุธให้กับ "กองทัพน้อยแห่งแอฟริกา" ของจอมพล รอมเมิล ทำให้การปฏิบัติการเชิงรุกของ


รอมเมิลได้ผล จนสามารถตะลุยเข้าไปถึงแอฟริกาตะวันออกและเอาชนะกองทัพที่ ๘ ของอังกฤษได้ในยุทธการที่เมืองเอลอะลาเมน (Battle of El-Alamein)* ซึ่งอยู่ห่างจากคลองสุเอซ (Suez) เพียง ๑๒๐ กิโลเมตร เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้ฝ่ายพันธมิตรต้องยอมรับอย่างจริงจังถึงความน่ากลัวของชัยชนะของฝ่ายอักษะไม่เฉพาะแต่ในแอฟริกาตอนเหนือ แต่ยังรวมถึงรัสเซียใต้คาบสมุทรบอลข่าน เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก และอาจหมายถึงตะวันออกกลางด้วยในที่สุด
     ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ รัฐบาลอังกฤษจัดให้มีการประชุมคณะเสนาธิการทหารของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาขึ้นในกรุงลอนดอน เพื่อทบทวนและวางแผนการรบร่วมกันในแอฟริกาตอนเหนือ ขณะที่ฝรั่งเศสยังไม่พร้อมจะเข้าร่วม ที่ประชุมให้ความเห็นชอบที่จะเพิ่มสมรรถนะให้กับกองทัพที่ ๘ ของอังกฤษในฐานะกองกำลังหลักโดยมีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนด้านอาวุธยุทธปัจจัย ในการวางแผนการรบที่ประชุมเห็นชอบให้กองทัพที่ ๘ ดำเนินการรบในอียิปต์ เพื่อแย่งชิงดินแดนกลับคืนด้วยการเอาชนะรอมเมิลขณะเดียวกันก็ตกลงให้จัดตั้งกองกำลังผสมอังกฤษ-สหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของพลเอก ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) โดยจะเริ่มปฏิบัติการในแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือและค่อยรุกคืบไปทางตะวันออก ที่ประชุมหวัง

ว่าระหว่างปฏิบัติการจะสามารถรวบรวมกำลังพันธมิตรในทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลางที่ร่วมลงนามในคำประกาศแห่งสหประชาชาติ (Declaration by the United Nations) เข้าร่วมรบในแอฟริกาตอนเหนือได้
     หลังการประชุมที่กรุงลอนดอน ได้มีการเตรียมความพร้อมตามแผนที่ได้ตกลงกันไว้ วันที่ ๒๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ มอนต์กอเมอรีได้นำกองทัพที่ ๘ ของอังกฤษบุกเข้าโจมตีกองกำลังของรอมเมิลที่ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองเอลอะลาเมน การสู้รบดำเนินไปอย่างดุเดือดติดต่อกันเป็นเวลา ๑๐ วัน อังกฤษจึงสามารถฝ่าแนวป้องกันของกองทัพน้อยของรอมเมิลและยึดคืนพื้นที่ทั้งหมดในอียิปต์ได้ หลังจากนั้นอังกฤษก็อยู่ในฐานะได้เปรียบเป็นครั้งแรก ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๒ กองทัพน้อยแห่งแอฟริกาของรอมเมิลถูกบีบให้ต้องถอยร่นอย่างไม่เป็นกระบวนตลอดพื้นที่สู้รบในลิเบียของอิตาลี
     ความปราชัยของรอมเมิลในลิเบียเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับปฏิบัติการทอร์ช (TORCH) ภายใต้การนำของนายพลไอเซนฮาวร์แห่งกองกำลังผสมอังกฤษ-สหรัฐอเมริกาปฏิบัติการนี้เริ่มด้วยการยกพลขึ้นบกของฝ่ายพันธมิตรที่เมืองคาซาบลังกา (Casablanca) แอลเจียร์ (Algiers) และโอรัน (Oran) เมืองชายฝั่งทะเลในเขตแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส การยกพลขึ้นบกครั้งนี้นับเป็นปฏิบัติการเชิงรุกครั้งสำคัญที่ระดมสรรพกำลังทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศเพื่อพิชิตกองทัพฝ่ายอักษะในแอฟริกาตอนเหนือ แม้อาวุธยุทโธปกรณ์โดยเฉพาะเครื่องบินและเรือบรรทุกเครื่องบินยังคงขาดแคลนอยู่มาก แต่ปฏิบัติการแบบจู่โจมบนภาคพื้นดินและตามแนวชายฝั่งซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วและการรบแบบจู่โจมได้สร้างความประหลาดใจให้กับกองทัพอักษะ เป็นอย่างมาก
     อย่างไรก็ดี ปฏิบัติการพันธมิตรอังกฤษ-สหรัฐอเมริกาโดยไม่มีฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เข้าร่วมด้วยเป็นเรื่องที่ยากจะอธิบายได้ ทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกาจึงพยายามขอความร่วมมือจากฝรั่งเศสในทุกวิถีทางแต่ก็ยังไม่ประสบผล ฉะนั้นเมื่อปรากฏว่า พลเรือเอก ชอง ดาร์ลอง (Jean Darlan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารเรือของฝรั่งเศสเดินทางมาเยี่ยมบุตรชายที่เมืองแอลเจียร์ฝ่ายพันธมิตรจึงส่งคนเข้าคุมตัวดาร์ลองไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อขอให้ดาร์ลองช่วยดำเนินการให้รัฐบาลวิชีร่วมมือกับฝ่ายพันธมิตรในการรบในแอฟริกาตอนเหนือ ซึ่งต่อมา จอมพล อองรี เปแตง (Henri Pétain)* นายกรัฐมนตรีก็ให้ความเห็นชอบและแต่งตั้งดาร์ลองเป็นข้าหลวงใหญ่ของฝรั่งเศสประจำอาณานิคมในแอฟริกาตอนเหนือ ทั้งเยอรมนีและอิตาลีต่างแสดงท่าทีไม่พอใจเป็นอย่างมาก และได้ตอบโต้ด้วยความพยายามที่จะยึดครองฐานทัพเรือของฝรั่งเศสที่เมืองตูลง (Toulon) แต่ไม่ประสบผล
     แม้ดาร์ลองจะทำหน้าที่ในแอฟริกาตอนเหนือได้เป็นผลดี แต่การที่เขาเคยร่วมรัฐบาลวิชีและทำงานใกล้ชิดกับฝ่ายอักษะมาก่อน ได้สร้างความไม่สบายใจให้กับผู้นำระดับสูงของฝ่ายพันธมิตรหลายคนและก่อให้เกิดปัญหาจนถึงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ดาร์ลองถูกลอบสังหาร รัฐบาลฝรั่งเศสได้แต่งตั้งข้าหลวงใหญ่คนใหม่คือ พลเอก อองรี ชีโร (Henri Giraud) ซึ่งเคยมีประวัติต่อต้านนาซีเยอรมันและเคยถูกจับกุมคุมขังไว้ในค่ายเชลยศึกของเยอรมันมาแล้วหลายครั้ง ชีโรจึงได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกฝ่ายรวมทั้งจากจอมพล เดอ โกลด้วย เมื่อล่วงมาถึงปลาย ค.ศ. ๑๙๔๒ สถานการณ์ได้พลิกผันฝ่ายพันธมิตรสามารถผนึกกำลังกันได้ตามเป้าหมาย ทั้งการสนับสนุนจากฝรั่งเศสก็ได้จากทั้งรัฐบาลวิชีและรัฐบาลพลัดถิ่น ขณะเดียวกันปฏิบัติการรบของทั้งกองทัพที่ ๘ และกองกำลังผสมก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
     ขณะที่การสู้รบในแอฟริกาตอนเหนือกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน รูสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) ของสหรัฐอเมริกาและเซอร์วินสตัน เลนเนิร์ด สเปนเซอร์ เชอร์ชิลล์ (Winston Leonard Spencer Churchill)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษดำริให้มีการประชุมผู้นำฝ่ายพันธมิตรและหัวหน้าคณะเสนาธิการทหารขึ้น เพื่อปรึกษาหารือแนวทางในการเอาชนะฝ่ายอักษะ การประชุมคาซาบลังกา (Casablanca Conference)* จึงถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๔-๒๔ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๓ ที่ประชุมได้บรรลุข้อตกลงหลายประการเกี่ยวกับการดำเนินการรบในแนวรบด้านต่าง ๆ ของโลก แต่หัวใจสำคัญของการประชุมอยู่ที่การพิชิตฝ่ายอักษะในแนวรบภาคพื้นแอตแลนติกซึ่งรวมภาคพื้นยุโรป ตะวันออกใกล้ และแอฟริกาตอนเหนือ โดยการรบจะต้องกระทำพร้อมกันไปอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้ฝ่ายอักษะ "ยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข" (unconditional surrender) ในเร็ววันที่สุดและสิ่งที่ฝ่ายพันธมิตรตกลงที่จะดำเนินการร่วมกัน คือการเอาชนะฝ่ายอักษะอย่างเด็ดขาดในแอฟริกาตอนเหนือ เพื่อกรุยทางไปสู่การยกพลขึ้นบกที่ซิซิลีและอิตาลีตอนใต้ก่อนที่จะรุกคืบไปยึดครองอิตาลีทั้งประเทศ นอก จากนั้น ฝ่ายพันธมิตรยังตกลงกันที่จะเสริมกำลังรบทางอากาศและเพิ่มสมรรถนะของเครื่องบินรบโดยมุ่งให้เกิดความเสียหายแก่ฝ่ายอักษะอย่างรวดเร็ว รุนแรง และหนักหน่วงที่สุด ทั้งยังต้องเร่งปรับปรุงและเสริมกำลังรบ ทางทะเล เพื่อบั่นทอนและเอาชนะความเป็นเจ้าทะเลของเยอรมนีโดยเฉพาะในแนวรบด้านมหาสมุทรแอตแลนติก ทั้งนี้เพื่อเตรียมการยกพลขึ้นบกทางช่อง แคบอังกฤษ สำหรับแนวรบด้านยุโรปตะวันออกและตะวันออกใกล้ ที่ประชุมตกลงที่จะเพิ่มสมรรถนะให้รัสเซียเข้มแข็งด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อให้ปฏิบัติการเชิงรุกและการตอบโต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
     ระหว่างการประชุมคาซาบลังกา ฝ่ายอักษะเองก็ให้ความสนใจและตระหนักในความสำคัญของการประชุมนี้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนีพอจะคาดเดาความประสงค์ของฝ่ายพันธมิตร จึงรีบส่งกำลังพลและอาวุธยุทธปัจจัยเพิ่มให้กองทัพของรอมเมิลทำให้กองทัพน้อยของรอมเมิลเพิ่มความแข็งแกร่ง ในขณะเดียวกัน การประสานการรบระหว่างเยอรมนีกับอิตาลีก็เป็นไปอย่างราบรื่น ความเป็นปึกแผ่นในการบัญชาการรบของฝ่ายอักษะจึงเหนือกว่าฝ่ายพันธมิตรซึ่งมักมีปัญหากับฝรั่งเศส ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ รอมเมิลประสบความสำเร็จอย่าง งดงามในยุทธการที่ตูนิเซีย (Tunisia) ซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในฐานะอยู่ใกล้ซิซิลีและอิตาลีตอนใต้ที่สุด อย่างไรก็ดี นับแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไปสถานการณ์ได้พลิกผัน หลังจากที่ฝ่ายพันธมิตรได้รับการเสริมกำลังรบและตั้งหลักได้ สามารถตอบโต้และยึดคืนพื้นที่ในครอบครองของฝ่ายอักษะได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว จนในที่สุดก็สามารถขับไล่กองกำลังของฝ่ายอักษะออกไปจากตูนิเซียได้เกือบทั้งหมด ในเอกสารแถลงข่าวของกองทัพพันธมิตร ลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ มีข้อความตอนหนึ่งว่า "ไม่ปรากฏมีกอง กำลังของฝ่ายอักษะหลงเหลืออยู่ในแอฟริกาตอนเหนือยกเว้นเชลยศึกที่อยู่ในกำมือของเราจำนวนหนึ่งเท่านั้น" และมีหลักฐานเชลยศึกเป็นจำนวน ๒๓๘,๐๐๐ คนในขณะนั้น
     การรบในแอฟริกาตอนเหนือสิ้นสุดลงในเดือน พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ แม้จะเป็นการรบที่ใช้เวลาไม่นานมากนัก แต่ก็เป็นการรบที่ดุเดือด รุนแรง และสร้างความสูญเสียให้กับทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งยังเป็นการปูทางไปสู่การยกพลขึ้นบกที่ ซิซิลีและอิตาลีตอนใต้ รวมทั้งการยกพลขึ้นบกทางช่องแคบอังกฤษที่ชายฝั่งนอร์มองดี (Normandy) ของฝรั่งเศสในเวลาต่อมาด้วย.



คำตั้ง
North African Campaigns
คำเทียบ
การรบในแอฟริกาตอนเหนือ
คำสำคัญ
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- รูสเวลต์, แฟรงกลิน เดลาโน
- ยุทธการที่ตูนิเซีย
- เปแตง, อองรี ฟิลิป
- ตูลง, เมือง
- ปฏิบัติการทอร์ช
- ดาร์ลอง, ชอง
- ชีโร, อองรี
- คาซาบลังกา, เมือง
- คำประกาศแห่งสหประชาชาติ
- สุเอซ, คลอง
- ไอเซนฮาวร์, ดไวต์ ดี.
- ยุทธการที่เมืองเอลอะลาเมน
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- รอมเมิล, แอร์วิน
- อักษะ, ฝ่าย
- รัฐบาลวิชี
- มอนต์กอเมอรี, เบอร์นาร์ด ลอว์
- ตริโปลี
- ขบวนการฝรั่งเศสเสรี
- โกล, ชาร์ล อองเดร โชแซฟ มารี เดอ
- การรบในแอฟริกาตอนเหนือ
- กองทัพน้อยแห่งแอฟริกา
- การประชุมคาซาบลังกา
- เชอร์ชิลล์, เซอร์วินสตัน เลนเนิร์ด สเปนเซอร์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1942-1943
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๘๕-๒๔๘๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุจิตรา วุฒิเสถียร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf